หลายคนสนใจปลูกกล้วยไม้เป็นงานอดิเรก ทั้งกล้วยไม้สกุลช้าง สกุลแวนด้า สกุลหวายและกลุ่มคัทลียา แต่มือใหม่หัดปลูกกล้วยไม้มักเจอปัญหา โรคใบจุดดำลึกขอบมีสีเหลืองและเน่าเสียหาย จนต้องตัดต้นทิ้งในที่สุด ความจริง การเลี้ยงกล้วยไม้ให้งาม ไม่ใช่เรื่องยาก ใครๆ ก็สามารถทำได้ หากปลูกดูแลกล้วยไม้ตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้
ก่อนอื่นขอแนะนำให้มือใหม่ทั้งหลาย หัดเรียนรู้ธรรมชาติของกล้วยไม้เสียก่อนว่า กล้วยไม้ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ในวงศ์กล้วยไม้ (แฟมิลี่) นั้น กล้วยไม้เป็นพันธุ์พืชมีดอกมากกว่า 25,000 ชนิด (สปีซี่ส์) กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก คำว่า กล้วยไม้ ในภาษาอังกฤษ เรียกว่า ออคิด หรือ ออร์คิด มีความหมายว่า ลักษณะโป่งตอนกลาง
ปลูกกล้วยไม้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
การเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ในเขตร้อนชื้น ต้องใส่ใจปรับสภาพแวดล้อม คือ แสงแดด อุณหภูมิ ความชื้น ฯลฯ ให้เหมาะสมและเอื้อต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้แต่ละสกุล
แสงแดด
การปลูกกล้วยไม้ จำเป็นต้องพรางแสงให้ตามความเหมาะสมของแต่ละสกุล กล้วยไม้สกุลหวาย ต้องการแสงแดดเพียง 60-70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแวนด้าต้องการแสงแดดเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 4-6 ชั่วโมง
อุณหภูมิ
กล้วยไม้เขตร้อนเจริญเติบโตได้ดี ที่อุณหภูมิ 25-35 องศาเซลเซียส เมื่อมีการพรางแสงและให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ปัญหาเรื่องอุณหภูมิจึงไม่เกิดขึ้นในบ้านเรา
3.ความชื้น
กล้วยไม้เกือบทุกสกุลต้องการความชื้นสัมพัทธ์ อยู่ระหว่าง 60-80 เปอร์เซ็นต์ โดยรักษาความชื้นที่บริเวณรากให้อยู่ในระดับที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งพึงระวังคือ อย่าให้ลมพัดโกรกแรง และไม่ควรรดน้ำบ่อยเกินไป เพราะจะทำให้บริเวณรากชื้นมากเกินความจำเป็น ในโรงเรือนต้องจัดการให้มีลมพัดผ่านได้ดี
วัสดุปลูก
วัสดุปลูก นับเป็นองค์ประกอบสำคัญในการนำไปสู่ความสำเร็จในการปลูกกล้วยไม้ วัสดุปลูกสำหรับกล้วยไม้ชนิดรากอากาศและกึ่งรากอากาศ เช่น สกุลแวนด้า ช้าง เข็ม และกุหลาบ ต้องเป็นวัสดุที่อุ้มน้ำและระบายน้ำได้ดี ได้แก่ ออสมันด้า ซึ่งเป็นเฟิร์นชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นเส้นฝอย แห้งและมีน้ำหนักเบา แต่มีข้อเสียคือ มีราคาแพง ถ่าน ข้อดีมีน้ำหนักเบา อุ้มน้ำและระบายน้ำได้ดี หาได้ง่าย และสะอาด กาบมะพร้าว ข้อดีหาได้ง่าย เก็บความชื้นได้ดี มีข้อเสียคือ เปื่อยยุ่ยง่ายกว่าถ่านไม้ อิฐหัก เก็บความชื้นและระบายน้ำได้ดี หาได้ง่าย แต่ข้อเสียคือ มีน้ำหนักเบา และ โฟม ข้อดีมีน้ำหนักเบา หาได้ง่าย มีความยืดหยุ่นได้ดี ช่องว่างระหว่างก้อนโฟมที่ทำให้เล็กจะเก็บน้ำได้ดี ส่วนวัสดุปลูกของ กล้วยไม้ดิน ให้ใช้อินทรียวัตถุ เช่น เศษใบไม้แห้งหมักให้ได้ที่ผสมกับถ่านและอิฐหัก ก็นับว่าใช้ได้ผลดี
บำรุงธาตุอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสม
ในสภาพธรรมชาติกล้วยไม้จะได้ธาตุอาหารจากเศษซากพืชที่เน่าเปื่อยผุพัง และเมื่อนำมาปลูกในกระถางหรือกระเช้าจึงจำเป็นต้องให้ปุ๋ยเคมีแทนอินทรียวัตถุในธรรมชาติ คือในระยะ ลูกกล้วยไม้ ที่นำออกจากขวดใหม่ๆ ให้ใช้ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำได้ สูตร 30-10-10 หรือ 10-20-10 หรือสูตรใกล้เคียง อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ เดือนละ 2 ครั้ง กล้วยไม้วัยหนุ่มสาว ระยะใกล้ออกดอกใช้ปุ๋ย สูตร 10-20-10 หรือ 15-15-15 อัตรา 50-100 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ 2 ครั้ง ต่อเดือน และระยะแทงช่อ ด้วยปุ๋ย สูตร 16-21-27 หรือ 20-20-20 อัตรา 50-100 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ เดือนละ 2 ครั้ง หลังแทงช่อแล้วไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยอีก อายุการติดดอกอยู่ระหว่าง 8-24 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ และสายพันธุ์ที่ปลูก
รู้จักโรคกล้วยไม้และวิธีการแก้ไข
โรคพืชที่พบได้บ่อยในกล้วยไม้ คือ โรคใบจุด เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อราชนิดหนึ่ง อาการของโรคที่ระบาดในกล้วยไม้แวนด้าพบรอยแผลยาวรีคล้ายกระสวย บริเวณกลางของแผลจะเป็นตุ่มนูน แต่ถ้าหากเกิดที่ใบของกล้วยไม้สกุลหวายพบเป็นจุดสีดำขนาดเล็ก เท่าปลายเข็มหมุดและขยายเพิ่มขนาดขึ้นถึงเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ยุบลงลึกในเนื้อใบ ขอบแผลสีน้ำตาลอ่อน ต่อมาจะลุกลามทำให้ใบเน่าเสียหาย วิธีป้องกันกำจัด ให้ตัดใบที่เริ่มแสดงอาการของโรคเผาทำลายทิ้งไป หากเกิดการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยคาร์เบนดาซิม หรือแมนโคเซบ ตามอัตราและเวลาที่ระบุไว้ที่ฉลาก
ที่มา www.cyto.biz (ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยมูลค้างคาว ปุ๋ยไซโต)
留言