หากจะพูดถึงผลไม้ที่มีคนชอบมากเป็นอันดับต้น ๆ ทว่าก็มีคนเกลียดมากไม่แพ้กัน หลายคนต้องยกให้ทุเรียน ผลไม้ที่มีรสชาติหวาน มัน อร่อยถูกปากคนส่วนใหญ่ แต่กลับมีกลิ่นรุนแรง แถมหนามแหลมคม จนทำให้หลายคนต้องร้องหยี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงราชาแห่งผลไม้แน่ ๆ โดยในวันนี้เราจะมองข้ามกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ของทุเรียนไป แต่จะมาโฟกัสและทำความเข้าใจถึงประวัติความเป็นมา ประโยชน์ และวิธีการปลูกทุเรียนแบบไม่ยากกัน เอาเป็นว่าถ้าอยากรู้ว่าทุเรียนจะมีเรื่องราวน่าสนใจอะไรบ้าง ตามมาดูไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
ประวัติทุเรียน
ทุเรียน ภาษาอังกฤษคือ Durion มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Durio zibethenus Linn. จัดอยู่ในวงศ์ฝ้ายหรือวงศ์ชบา (Malvaceae) แม้ว่าจะมีนักอนุกรมวิธานบางส่วนจัดให้อยู่ในวงศ์ทุเรียน (Bombacaceae) ก็ตาม โดยทุเรียนเป็นผลไม้ขึ้นชื่อในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแหล่งกำเนิดมาจากเกาะสุมาตรา ซึ่งด้วยกลิ่นที่รุนแรงและหนามแข็ง ๆ รอบตัว ทำให้ใคร ๆ ต่างก็ยกย่องให้ทุเรียนเป็นราชาแห่งผลไม้
โดยในส่วนของประเทศไทย มีบันทึกจากฝั่งฝรั่งเศสระบุว่าคนไทยรู้จักทุเรียนกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว ซึ่งในสมัยนั้นคนไทยเราเรียกทุเรียนว่า ทูลเรียน (Tourrion) ส่วนหลักฐานการนำทุเรียนเข้ามาสู่ประเทศนั้นยังไม่พบข้อมูลแน่ชัด
ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ก็ได้เล่าว่าไทยเรามีการแพร่ขยายและกระจายพันธุ์ของทุเรียน จนพัฒนาไปสู่การขยายพันธุ์และปรับปรุงสายพันธุ์ จนทำให้มีทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์มาจนถึงทุกวันนี้
ทุเรียนกับความเชื่อ
ตามตำราบอกว่าทุเรียนเป็นผลไม้ที่เหมาะแก่การปลูกไว้ในบ้าน โดยควรปลูกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นทิศที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญา เพราะคำว่าทุเรียนมีการออกเสียงที่คล้ายคลึงกับคำว่าการเรียน ทำให้การปลูกทุเรียนไว้ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือสื่อถึงการใฝ่เรียนรู้นั่นเอง สายพันธุ์ทุเรียนในประเทศไทย
สายพันธุ์ทุเรียนในประเทศไทยสามารถแบ่งออกตามลักษณะได้เป็น 6 กลุ่มใหญ่ คือ
1. กลุ่มกบ
เป็นกลุ่มที่มีลักษณะใบเป็นรูปไข่ ปลายแหลมโค้ง ฐานใบกลม ส่วนผลมีทั้งแบบกลม รี และแป้น หนามงอโค้ง โดยจะมีทั้งหมด 46 สายพันธุ์ เช่น กบก้านยาว กบตาดำ และกบก้านเหลือง
2. กลุ่มลวง
เป็นกลุ่มที่มีลักษณะใบป้อม ปลายใบเรียว ฐานใบแหลมและมน ผลมีทั้งแบบกระบอกและรี หนามเว้า โดยมีสายพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มนี้ทั้งหมด 12 สายพันธุ์ เช่น ชะนี ชะนีก้านยาว และลวงทอง
3. กลุ่มก้านยาว
เป็นกลุ่มที่มีลักษณะป้อมช่วงปลายใบ ปลายเรียวแหลม ฐานใบเรียว ส่วนผลมีทั้งแบบไข่กลับและแบบกลม หนามนูน โดยจะมีทั้งหมด 8 สายพันธุ์ เช่น ก้านยาว ก้านยาวพวง และก้านยาวใบด่าง
4. กลุ่มกำปั่น
เป็นกลุ่มที่มีลักษณะใบยาวรี ปลายใบเรียว ฐานใบแหลม ส่วนผลเป็นทรงขอบขนาน หนามแหลมตรง โดยมีพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มนี้ทั้งหมด 13 พันธุ์ เช่น หมอนทอง กำปั่นเหลือง และกำปั่นแดง
5. กลุ่มทองย้อย
เป็นกลุ่มที่มีลักษณะป้อมช่วงปลาย ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบมน ผลเป็นรูปไข่กลับ ส่วนหนามนูนปลายแหลม โดยมีพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มนี้ทั้งหมด 14 พันธุ์ เช่น ทองย้อยเดิม ทองย้อยฉัตร และทองใหม่
6. กลุ่มเบ็ดเตล็ด
เป็นกลุ่มที่มีลักษณะไม่แน่ชัด โดยมีอยู่มากถึง 81 สายพันธุ์ เช่น กระดุมทอง กระดุมสีนาค และเม็ดในกระดุม
โดยสายพันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทยมากที่สุดมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ กระดุม ชะนี หมอนทอง และก้านยาว
ทุเรียน ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : เป็นไม้ผลยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูงตั้งแต่ 25-50 เมตร มีอายุมากกว่า 80 ปี เปลือกมีสีเทาเข้ม ผิวขรุขระ เป็นสะเก็ด ไม่มียาง เนื้อไม้ค่อนข้างอ่อน ส่วนกิ่งแตกกิ่งเป็นมุมแหลมและยาว สามารถเป็นทรงพุ่มได้ 3 ทรง คือ ทรงพุ่มสี่เหลี่ยม ทรงพุ่มกรวยคว่ำ ฐานกว้าง และทรงพุ่มกรวยคว่ำ ฐานแคบ
ใบ : ใบทุเรียนจะขึ้นสลับตรงข้าม กระจายอยู่ทั่วกิ่ง มีลักษณะหนา แข็ง และมีขอบเรียบ โดยในส่วนด้านบนของใบจะเป็นสีเขียว ส่วนด้านล่างเป็นสีน้ำตาล รูปทรงแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์
ดอก : ดอกทุเรียนเป็นดอกสมบูรณ์เพศ รูปทรงคล้ายระฆัง ออกดอกเป็นช่อ แต่ละช่อมีประมาณ 5-30 ดอก โดยจะแทงออกตามตาของกิ่ง มีกลีบเลี้ยง กลีบรอง และกลีบดอก ซึ่งตอนแรกดอกจะขึ้นเป็นตุ๋มเล็ก ๆ สีน้ำตาลเข้ม จากนั้นก็กลายเป็นดอกตูมมีสีขาวหอม
ผล : เป็นผลเดี่ยว สด มีหลายรูปทรงแล้วแต่สายพันธุ์ แต่ส่วนมากจะรีและกลม เปลือกมีหนามแหลมล้อมรอบ โดยผลแก่จะมีสีเขียว พอสุกแล้วจะมีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเนื้อด้านในมีสีเหลืองอ่อนไปจนถึงแดง นิ่ม และมีรสหวาน ซึ่งจะแตกออกเป็นส่วน ๆ เรียกว่าพู และตามปกติจะให้ผลเมื่อมีอายุ 4-5 ปี
เมล็ด : เมล็ดทุเรียนมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ลักษณะกลม ๆ รี ๆ มีเปลือกหุ้มสีน้ำตาล เนื้อในสีขาว รสฝาด วิธีปลูกทุเรียน
ปลูกทุเรียนในกระถาง
สำหรับคนที่อยากจะลองปลูกทุเรียนในกระถางไว้ที่บ้านสักต้น ก็สามารถทำได้ แถมยังมีข้อดีเยอะเลย เพราะนอกจากจะควบคุมคุณภาพ รสชาติ และการเกิดโรคได้ง่ายกว่าการปลูกลงดินแล้ว ยังใช้พื้นที่น้อยกว่า ให้ผลผลิตเร็ว แถมยังใช้กับการปลูกผลไม้อื่น ๆ ในกระถางได้ด้วย โดยนำกิ่งพันธุ์ทุเรียน จะเป็นกิ่งตอน กิ่งเสียบยอด หรือกิ่งทาบ ที่มีใบแก่เท่านั้น และกิ่งมีอายุอย่างน้อย 1 ปี นำมาตัดถุงชำออก และเอาดินออกประมาณ 1 ใน 4 จากนั้นนำดินดำหรือหน้าดิน 1 ส่วน แกลบดิน 2 ส่วน และมูลวัวหรือมูลควาย 1 ส่วน มาคลุกเคล้าให้เข้ากันใส่ลงในกระถางโดยเหลือไว้ประมาณ 3 นิ้ว แล้วนำต้นทุเรียนมาปลูก พร้อมปักไม้ผูกเชือกกับลำต้นกันโยก เสร็จแล้วให้รดน้ำทันที และนำวัสดุมาคลุมหน้าดินเพื่อรักษาความชื้น ได้แก่ หญ้าแห้ง ใบไม้แห้ง กาแฟบด หรือมูลสัตว์ ทั้งแนะนำให้ปลูกต้นเย็น เพราะหากเป็นต้นเช้าต้นไม้จะเหี่ยว ระยะแรกรดเฉพาะบริเวณโคนต้นในตอนเช้าอย่างสม่ำเสมอ ใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ก็จะเริ่มแตกใบอ่อน หากเป็นช่วงหน้าฝนหรือมีความชื้นให้นำวัสดุคลุมหน้าดินออกเพื่อป้องกันโคนและรากเน่า
การใส่ปุ๋ยบำรุงขึ้นอยู่กับช่วงของการเจริญเติบโต โดยเน้นดูที่ธาตุอาหารเป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีแรก ตั้งแต่เตรียมหลุมปลูก ในช่วงนี้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอก ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี แต่หากเข้าสู่ช่วงแตกกิ่งใบให้เน้นไนโตรเจน เมื่อใกล้ช่วงออกดอกให้ลดไนโตรเจนลง เพื่อหยุดการแตกกิ่งใบ แล้วมาเน้นปุ๋ยที่มีฟอสเฟตหรือโปแตสเซียมสูงแทน เพื่อเร่งดอก หลังจากติดผลแล้วและต้องการเร่งการเจริญเติบโตของผล ให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ หลังจากติดผลแล้ว 5-6 สัปดาห์ ระหว่างนี้ก็ควรหมั่นกำจัดวัชพืชที่จะมาแย่งสารอาหารจากต้นทุเรียนด้วย
ปลูกทุเรียนลงดิน
ก่อนจะลงมือปลูกทุเรียน เราควรเลือกพื้นที่ปลูกที่มีอุณหภูมิประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส และความชื้นประมาณ 75-85% ก่อน ส่วนดินที่ใช้ปลูกควรเลือกเป็นดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือดินเหนียวปนทราย ซึ่งต้องระบายน้ำได้ดี มีหน้าดินลึก และมีแหล่งน้ำเพียงพอ อีกทั้งยังต้องเลือกต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์ แข็งแรง และไม่มีโรค
จากนั้นก็เริ่มเตรียมการปลูก โดยควรปลูกในช่วงมีนาคม-เมษายน ถ้าหากสามารถจัดการระบบให้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าหากยังดูแลเรื่องน้ำได้ไม่ดีพอ ก็ควรปลูกช่วงต้นฤดูฝน โดยการเตรียมการขั้นแรกให้ปรับพื้นที่ให้ราบ ขุดตอ ขุดรากไม้เก่าออก เสร็จแล้วก็กำหนดระยะห่างระหว่างต้นให้ห่างกันด้านละ 9 เมตร จากนั้นวางแนวและปักไม้ตามระยะที่กำหนด แล้วขุดหลุมปลูกต่อ โดยสามารถเลือกปลูกได้ 2 วิธี คือ
1. วิธีขุดหลุมปลูก
หลังจากขุดหลุมและผสมปุ๋ยเรียบร้อย นำถุงต้นกล้าที่แข็งแรงมาตัดก้นถุง แล้ววางไว้กลางหลุม จากนั้นใช้มีดกรีดถุงพลาสติก แล้วนำถุงออก เสร็จแล้วก็กลบดินและปักไม้หลักลงข้างต้น พร้อมทั้งผูกเชือกยึดไว้กันลมพัด แล้วรดน้ำให้โชก พร้อมทั้งทำร่มเงาให้ต้นทุเรียนด้วย 2. วิธีปลูกแบบไม่ขุดหลุม
โรยปุ๋ยรอบ ๆ ตำแหน่งที่จะปลูก จากนั้นนำต้นกล้ามาวาง โดยฉีกถุงพลาสติกออกให้หมด แล้วขุดดินข้าง ๆ ขึ้นมากลบ ระวังอย่ากลบสูงจนถึงรอยเสียบยอดหรือรอยทาบ จากนั้นก็รดน้ำ พร้อมทำร่มเงาให้ต้นเหมือนกันกับวิธีปลูกแบบขุดหลุม
ในส่วนของการปลูกด้วยการเพาะเมล็ด ปัจจุบันไม่นิยมปลูกต้นทุเรียนด้วยการเพาะเมล็ดโดยตรงสักเท่าไร เพราะจะทำให้ได้ผลที่มีลักษณะไม่คงที่ โดยคนส่วนใหญ่มักจะนำวิธีการเพาะเมล็ดไปใช้ในการขยายพันธุ์ เพื่อทำเป็นต้นตอ จากนั้นก็เสียบยอดและทาบกิ่งแทน ทว่านอกจากจะขยายพันธุ์ทุเรียนด้วยการเพาะเมล็ดแล้วเสียบยอดแล้ว เรายังสามารถขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งได้ด้วย แม้ว่าวิธีนี้จะไม่ค่อยเป็นที่นิยมสักเท่าไรก็ตาม
ปลูกทุเรียน ดูแลอย่างไร ?
ทุเรียนเป็นต้นไม้ที่ต้องดูและใส่ใจค่อนข้างมากกว่าจะออกผล ซึ่งเราต้องหมั่นตรวจเช็กให้ต้นมีสภาพสมบูรณ์ ไม่เสื่อมโทรม ไม่มีใบเหลือง และไม่มีแมลงหรือศัตรูพืชรบกวน โดยแมลงและศัตรูพืชที่พบได้บ่อยในต้นทุเรียน ได้แก่ เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยไฟ เพลี้ยจั๊กจั่นฝอย เพลี้ยแป้ง ไรแดง หนอนเจาะผล หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน และหนอนด้วงหนวดยาว
ซึ่งวิธีการจะกำจัดแมลงและศัตรูพืชพวกนี้ ก็สามารถทำได้ด้วยการนำแมลงและหนอนทิ้ง ตัดผลที่ไม่สมบูรณ์หรือถูกทำลายออก ฉีดพ่นน้ำให้แมลงหลุด หรือถ้าหากมีแมลงหรือศัตรูพืชมากเกินไป อาจจะใช้การฉีดสารฆ่าแมลงเข้าช่วยก็ได้
อย่างไรก็ตามอย่าลืมกำจัดวัชพืชด้วยการตัดวัชพืชออกทุก ๆ 2 เดือน พร้อมทั้งใส่ปุ๋ยเป็นประจำ รดน้ำสม่ำเสมอในทุก ๆ 3 วัน และหมั่นดูแลป้องกันโรค เช่น โรคใบไหม้ โรคใบติด โรคจากเชื้อราไฟทอปธอร่า และโรคราสีชมพู ไม่ให้มาทำร้ายต้นทุเรียนของเราด้วย
ทุเรียน ประโยชน์เพียบ
รู้ไหมคะว่าทุเรียนอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายมากมายทั้ง คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน รวมถึงยังมีแร่ธาตุหลายชนิด และมีสารจำพวกแคโรทีนอยด์ ฟลาโวนอยด์ โพลีฟีนอล และเบต้าแคโรทีน ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก ๆ เลยด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ตามตำรายาไทยจะบอกว่าเนื้อทุเรียนมีสรรพคุณทางยาดี ๆ อยู่เพียบ อาทิ ช่วยให้ความร้อนแก่ร่างกาย ช่วยแก้จุกเสียด ช่วยทำให้ฝีแห้ง ช่วยแก้โรคผิวหนัง ช่วยขับพยาธิไส้เดือน และช่วยบำรุงกำลังได้
แถมไม่ใช่แค่เนื้อทุเรียนอย่างเดียวที่มีประโยชน์ แต่ทั้งเปลือก ราก และใบของทุเรียนก็ยังมีสรรพคุณทางยาดี ๆ อยู่ไม่แพ้กันเลยด้วย คนส่วนใหญ่จึงชอบกินทุเรียนกันมาก ๆ ซึ่งนอกจากจะกินทุเรียนแบบเป็นผลไม้แล้ว เราก็ยังสามารถนำทุเรียนไปปรุงอาหารได้เหมือนผัก และแปรรูปเพื่อให้บริโภคได้นานขึ้นหรือส่งออกทำรายได้มหาศาลอีกด้วย
และหากวันไหนที่เราไม่อยากกินข้าว เราก็ยังสามารถกินทุเรียนแทนได้ เพราะทุเรียน 2 เม็ด ให้พลังเท่ากับการกินข้าว 2 ทัพพีเลยทีเดียว แต่ว่าอย่างไรก็ต้องระมัดระวังและควบคุมการบริโภคทุเรียนสักหน่อย เพราะทุเรียนถือเป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์ร้อน แถมยังมีน้ำตาลและโพแทสเซียม ฉะนั้นผู้ที่เป็นเบาหวานและโรคไตควรหลีกเลี่ยงการบริโภคทุเรียนในปริมาณมาก ๆ ส่วนสำหรับใครที่กลัวจะกินทุเรียนแล้วอ้วน ก็สามารถตามไปดูวิธีกินทุเรียนแบบไม่อ้วน แถมได้ประโยชน์กับสุขภาพ กันได้เลย
แม้ว่าการปลูกทุเรียนจะต้องดูแลและเอาใจใส่มากขึ้นกว่าต้นไม้ธรรมดานิดหน่อย แต่หากได้มีทุเรียนอยู่ในบ้าน คอยออกผลอร่อย ๆ มาให้เราได้กิน ก็คงจะคุ้มและฟินไม่น้อย
ที่มา www.cyto.biz (ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยมูลค้างคาว ปุ๋ยไซโต)
Comentários