ฟักข้าว (Gac fruit) ผักหรือผลไม้พื้นบ้านที่นิยมรับประทานผล และยอดอ่อน เนื่องจาก มีการศึกษาทางการแพทย์ที่พบส่วนต่างๆมีสรรพคุณเด่น โดยเฉพาะมีสารออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และต้านโรคมะเร็งได้อย่างดี
วงศ์ : Cucurbitaceae ชื่อวิทยาศาสตร์ : Momordica cochinchinensis (Lour.) Spren ชื่อสามัญ : Gac fruit , Baby Jackfruit , Cochinchin Gourd , Spiny Bitter Gourd , Sweet Gourd , Cochinchin Gour
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลาง และทั่วไป : ฟักข้าว , มะข้าว
ภาคเหนือ : ผักข้าว , พุคู้เด๊าะ (แม่ฮ่องสอน)
ภาคใต้ : ขี้กาเครือ
ต่างประเทศ : แก็ก (เวียดนาม)
ถิ่นกำเนิด : ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ราก และลำต้น ฟักข้าว เป็นไม้เลื้อยล้มลุกที่มีอายุนานหลายปี มีลำต้นเป็นไม้เถาเลื้อย เถามีลักษณะเป็นเหลี่ยม ยาวได้มากถึง 20 เมตร เถาแตกมือเกาะออกตามข้อ โดยมือเกาะเป็นเส้นเดี่ยว ไม่แตกแขนง มือเกาะใช้สำหรับเกาะพันยึดกับวัสดุหรือต้นไม้อื่น
ใบ ใบฟักข้าว เป็นใบเดี่ยว เรียงออกสลับกันตามกิ่ง และลำต้น ใบมีก้านใบยาว 5-8 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ ยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวเข้ม แผ่นใบเป็นลูกคลื่นตามร่องของเส้นแขนงบนใบ ขอบใบเว้าหยัก 3-5 แฉก และมีเส้นแขนงกลางใบของแต่ละแฉก โดย 2 แฉกแรกที่อยู่บริเวณโคนใบ ซ้าย-ขวา จะเป็นแฉกสั้นๆ และอีก 2 แฉกถัดมา ซ้าย-ขวา จะเป็นแฉกยาวที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ส่วนแฉกตรงกลางที่เป็นแฉกเดี่ยวจะมีขนาดยาวที่สุด
ดอก ดอกฟักข้าวเป็นดอกเดี่ยว แทงออกตาข้อบริเวณซอกใบ เรียงลำดับในทางเดียวกัน ดอกฟักข้าวเป็นดอกแยกเพศ อยู่คนละต้นกัน ดอกตูมมีลักษณะคล้ายหอยแครงในลักษณะหงายขึ้น ซึ่งจะหุ้มด้วยกลีบรองดอกสีเขียว มีขนสีขาวนวลหรือเหลืองปกคลุม และมีลายเส้นชัดเจน ตรงกลางดอกมีสีน้ำตาลแกมม่วง
ดอกฟักข้าวเมื่อบานจะประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกมีสีเหลือง โดยดอกเพศผู้จะมีกลีบดอกใหญ่ และยาวกว่าดอกเพศเมีย รวมถึงปลายกลีบดอกแหลมกว่า ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาว 5-15 เซนติเมตร มีเกสร 3 อัน ดอกเพศเมียมีก้านดอกยาว 2-5 เซนติเมตร รังไข่มี 1 ช่อง มีท่อรังไข่เป็นแท่งยาว บริเวณปลายท่อรังไข่แยกเป็น 3 แฉก
ผล และเมล็ด ผลฟักข้าวมีรูปทรงไข่รีหรือค่อนข้างกลม โดยเปลือกจะมีหนามจำนวนมาก แต่หนามไม่แข็งจนเป็นอันตรายมาก เปลือกผลดิบมีสีเขียว เมื่อสุกจะมีสีส้มอมเหลือง และสุกมากจะมีสีแดงสด ขนาดผลกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร เปลือกหนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก และมีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงที่ฉ่ำน้ำ และให้รสหวาน เมล็ดมีลักษณะแบน สีน้ำตาล มีขอบเมล็ดหยัก มีผิวขรุขระ ขนาดเมล็ดประมาณ 1.8-2 เซนติเมตร
สาระสำคัญที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ 1. แคโรทีนอยด์ (Carotenoids) – ไลโคปีน (Lycopene) ประมาณ 380 ไมโครกรัม/ฟักข้าว 1 กรัม – เบตาแคโรทีน (Beta-carotene) ประมาณ 408 มิลลิกรัม/ฟักข้าว 1 กรัม 2. อัลฟาโทโคฟีรอล (Alpha-tocopherol)
ประโยชน์ฟักข้าว 1. เยื่อหุ้มเมล็ดที่มีสีแดง นำใช้เป็นส่วนผสมของอาหารเสริม 2. เยื่อหุ้มเมล็ดใช้เป็นส่วนผสมไอศครีม 3. เยื่อหุ้มเมล็ดใช้เป็นสีผสมอาหารหรือขนมหวาน 4. เมล็ด และเยื่อหุ้มเมล็ดนำมาสกัดสารสำหรับเป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง 5. เยื่อหุ้มเมล็ดนำมาขยำแยกออกจากเมล็ด ก่อนใช้ทำน้ำผลไม้ดื่ม 6. ผลฝักข้าวอ่อน และยอดอ่อน นำมาลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือใช้ทำอาหารประเภทต้ม แกงต่างๆ
สรรพคุณฟักข้าว ผล และเมล็ด – ต้านมะเร็ง และรักษาโรคมะเร็ง – ป้องกัน และรักษาโรคเบาหวาน – แก้หูดหรือฝีมะม่วง – รักษาโรคในปอด – แก้ไอ แก้วัณโรค – รักษาริดสีดวงทวาร – เยื่อหุ้มเมล็ดนำมาขยำผสมน้ำ ก่อนใช้หุงข้าว ช่วยแก้โรคโลหิตจาง – เมล็ดแห้งนำมาตำหรือบด ก่อนใช้ผสมน้ำมันจากพืช อาทิ น้ำมันงา น้ำมันมะพร้าว น้ำมันหอมระเหยจากดอกไม้ ก่อนใช้ทานวดกล้ามเนื้อ ช่วยลดอาการปวดเมื่อย อาการอักเสบ แก้อาการฟกช้ำ
ยอดอ่อน และใบ (มีรสขม) – แก้ริดสีดวง – บำรุงเลือด บำรุงร่างกาย – ช่วยแก้พิษไข้ พิษอักเสบ – แก้อาการปวดบวม – ใบนำมาตำผสมน้ำ ก่อนใช้ทาแผลแมลงกัดต่อย ช่วยลดอาการบวม
ราก และลำต้น – ใช้ถอนพิษ แก้พิษร้อน ถอนพิษสำแดง – ช่วยขับเสมหะ – แก้อาการปวดตามข้อ ลดข้ออักเสบ – แก้ผมร่วง – ใช้คุมกำเนิด – แก้กระหายน้ำ – ราก และลำต้นนำมาบดผสมกับน้ำมันพืช ก่อนใช้ขยำศรีษะสำหรับฆ่าเหา – นำมาตำขยำน้ำ ใช้สำหรับสระผมแทนสบู่ – นำมาตำผสมน้ำมันหรือน้ำเล็กน้อย ก่อนใช้ประคบรอยแผลสัตว์หรือแมลงกัดต่อย ช่วยแก้อาการบวม ลดอาการปวด และลดการอักเสบ
ฤทธิ์ทางเภสัชกรรมอื่นๆ – ต้าน และรักษามะเร็ง – ต้านเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย – ทำให้เกิดการแท้ง – ลดน้ำตาลในเลือด – กระตุ้นการบีบตัวของมดลูก – กระตุ้นเอนไซม์ Alcohol dehydrogenase – ยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีน – ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตก
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของฟักข้าว การทดลองฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของผลฟักข้าวในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะ Oxidative stress ก่อนจะใช้สาร MC0CI ที่สกัดได้จากเมล็ดฟักข้าวให้หนูทดลอง ซึ่งพบว่า สารชนิดนี้ สามารถลด Glutathione ในเซลล์ได้ รวมถึงช่วยป้องกันเซลล์จากภาวะ Oxidative stress ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสารชนิดนี้ในเมล็ดฟักข้าว ออฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และป้องกันมะเร็งได้ดี
การทดสอบครีมทาผิวที่ผลิตได้จากน้ำสกัดเยื่อหุ้มของฟักข้าวในอาสาสมัคร 20 คน ที่ช่วงการใช้ 8 สัปดาห์ พบว่า สภาพผิวของอาสาสมัครมีความยืดหยุ่น ความเรียบลื่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในผลฟักข้าวจะมีปริมาณมากทั้งในส่วนของเปลือก เนื้อผล เยื่อเมล็ด และเมล็ด ทั้งนี้ สารอนุมูลอิสระในผลฟักข้าวจะมีมากในระยะที่ผลกำลังสุก
การปลูกฟักข้าว ฟักข้าวนิยมปลูกด้วยเมล็ด แต่ก็ขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีอื่นได้ อาทิ การปักชำกิ่ง เป็นต้น ซึ่งฟักข้าวเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน ยกเว้นดินเค็มจัด วิธีเพาะเมล็ด 1. นำเมล็ดแห้งมาแช่น้ำไว้ 1 คืน ทั้งนี้ น้ำแช่อาจผสมน้ำยาเร่งรากด้วยยิ่งดี หรือหลังจากแช่น้ำแล้ว ค่อยนำมาแช่น้ำยาเร่งราก ซึ่งอาจใช้น้ำขี้หมูแทนน้ำยาเร่งรากก็ได้ 2. นำเมล็ดปักลงในถุงเพาะชำ พร้อมรดน้ำให้ชุ่ม ทั้งนี้ วัสดุเพาะควรผสมดินกับแกลบดำหรือปุ๋ยคอก อัตราส่วน 1:3 3. หลังจากเพาะเมล็ดแล้ว ให้ดูแลด้วยการให้น้ำเช้าเย็นทุกวัน จนกว่าเมล็ดงอก และแตกใบแล้ว 3-5 ใบ ค่อยนำลงปลูกบนแปลง
วิธีปักชำ วิธีนี้เพาะนี้ มักใช้เพื่อเลือกหรือเพื่อให้ได้ต้นฟักข้าวที่เป็นต้นดอกเพศผู้หรือต้นดอกเพศเมีย และช่วยให้ฟักข้าวติดผลได้เร็วกว่าการปลูกด้วยการเพาะเมล็ด
การปักชำทำได้ด้วยการตัดเถายาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร แล้วนำมาแช่น้ำยาเร่งราก และน้ำยาป้องกันเชื้อรา ก่อนจะปักชำเฉียงลงลึก 10-15 เซนติเมตร ด้วยการเอียงเถาประมาณ 45 องศา หลังจากนั้น รดน้ำให้ชุ่ม และดูแลจนกิ่งฟักข้าวแตกใบ 3-5 ใบ ก่อนจะนำปลูกลงแปลง
การเตรียมแปลงปลูก สำหรับการปลูกฟักข้าวเพื่อการค้าหรือปลูกลงแปลงขนาดใหญ่จำเป็นต้องเตรียมแปลงปลูกไว้ก่อน ด้วยการไถพรวนดิน 1-2 รอบ ตากดินนานรอบละ 7-10 วัน พร้อมกำจัดวัชพืช ทั้งนี้ ก่อนไถรอบ 2 ให้หว่านด้วยปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีก่อน
การปลูก หลังจากที่เพาะหรือเตรียมต้นกล้าจนเติบโตตามขนาดหรือระยะที่กำหนดแล้ว จึงนำลงปลูกบนแปลงใหญ่ ระยะปลูก 4×4 เมตร เนื้อที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 100 ต้น ทั้งนี้ ให้ผูกรัดต้นกับโคนเสาไว้ด้วย
การทำค้าง การทำค้างจะใช้เสาไม้หรือเสาปูนปักใกล้โคนต้นไปตามแนวยาวของแถว พร้อมใช้ลวดขึงปลายเสาด้านบนให้เป็นตารางสี่เหลี่ยม กว้างประมาณ 5×5 เซนติเมตร หรือมากกว่า
การดูแลรักษา หลังจากที่ปลูกเสร็จแล้ว มั่นให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ด้วยระบบสเปรย์หรือน้ำหยด พร้อมคอยรัดลำต้นให้โตขึ้นตามต้นเสาจนยอดลอยแขวนด้านบนได้ พร้อมคอยตัดแต่งกิ่งให้มีจำนวนที่พอเหมาะ ส่วนการใส่ปุ๋ยในระยะตั้งแต่ปลูกจนถึงก่อนออกดอกให้เน้นใส่ปุ๋ยคอก 1 ถังเล็ก/ต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 กำ/ต้น ในระยะประมาณ 1 เดือน หลังปลูก และหลังจากนั้นเป็น 3-4 เดือน/ครั้ง ส่วนในระยะออกดอกจนถึงผลก่อนผลสุกจะเปลี่ยนปุ๋ยเคมีเป็นสูตร 12-12-24 แทน
การเก็บเกี่ยวผลผลิต ฟักข้าวจะเริ่มออกดอก 2-3 เดือน หลังปลูก หลังจากนั้น ประมาณ 30-40 วัน หลังติดผล ผลก็จะเริ่มสุก ซึ่งฟักข้าวจะทยอยออกดอก และติดผลได้ตลอดทั้งปี ปริมาณผลผลิตประมาณ 100-120 ผล/ปี แต่ละผลจะหนักประมาณ 0.5-0.8 กิโลกรัม หรือบางลูกอาจหนักได้ถึง 1 กิโลกรัม
นอกจากผลฟักข้าวที่เก็บจำหน่ายแล้ว ยอดฟักข้าวยังเป็นผลผลิตอีกอย่างที่ทำกำไรได้ดีมาก โดยเฉพาะในระยะหลังการตัดกิ่ง ซึ่งจะมีการแตกยอดอ่อนของฟักข้าวออกมาเรื่อยๆ
น้ำฟักข้าว 1. ผ่าแบ่งครึ่งผลฟักข้าวออกเป็น 2 ส่วน 2. ใช้ชอนคว้านตักเอาเมล็ดทั้งหมดออกแยกออกใส่ถ้วยก่อน 3. ตักขูดเอาเนื้อฟักข้าวด้านในแยกใส่อีกถ้วย 4. นำเมล็ดฟักข้าวมาขยำด้วยผ้าขาวบางจนมองเห็นผิวเมล็ดฟักข้าว ซึ่งจะได้เยื่อหุ้มเมล็ดที่แยกออกจากเมล็ด 5. กรองบีบแยกเมล็ดออกจากเยื่อหุ้มเมล็ด 6. นำเยื่อหุ้มเมล็ด และเนื้อผลฟักข้าวมาปั่น พร้อมกับน้ำเชื่อม และน้ำแข็งเล็กน้อย จนได้น้ำฟักข้าวปั่น
ทั้งนี้ หากต้องการรสเปรี้ยวเล็กน้อย ให้บีบน้ำมะนาวเติมใส่ก่อนปั่น 1-2 ลูก ตามความต้องการ หรือปั่นผสมรวมกับผลไม้อื่น เช่น เสาวรส และสับประรด เป็นต้น และเพื่อป้องกันเชื้อโรค หลังจากที่แยกเนื้อผล และเยื่อเมล็ดฟักข้าวแล้ว ให้นำทั้งสองส่วนมาปั่นผสมกับน้ำก่อน แล้วนำไปอุ่นฆ่าเชื้อก่อนจึงค่อยนำมาปั่นใส่น้ำแข็งดื่ม
ที่มา www.cyto.biz (ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยมูลค้างคาว ปุ๋ยไซโต)
Comentarios