คุณสงวน พัฒนพันธ์ ทำการเกษตรมาเกือบ 20 ปี ทำสวนไผ่จนได้ใบรับรองการผลิตไผ่อินทรีย์ ของกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ปี 2550 และต่ออายุมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน ในเนื้อที่ทั้งหมด 7 ไร่ มีไผ่ทั้งหมดในสวนมากกว่า 300 กอ ซึ่งประกอบด้วยไผ่หลากหลายสายพันธุ์ เช่น ไผ่หม่าจู ไผ่ตงลืมแล้ง ไผ่กิมซุง ไผ่ช่อแฮ ไผ่บงหวาน แต่ที่ปลูกเยอะที่สุดและสร้างรายได้จริงๆ จะเป็นไผ่ตงลืมแล้ง ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 294 กอ ได้แนะนำวิธีการปลูกไผ่ให้ได้ลผลิตสูง ไว้เป็นขั้นตอน ดังต่อไปนี้
การปลูกไผ่ให้ได้ผลผลิตสูง
ไผ่ตงและไผ่ชนิดอื่น ๆ มีวิธีการเตรียมพื้นที่ปลูก-ขนย้ายต้นกล้า และการเตรียมหลุมปลูก ที่เหมือนกัน วิธีทีจะทำให้ต้นกล้ามีการฟื้นตัวและให้ผลผลิตเร็วดังนี้
การเตรียมพื้นที่ปลูก :
ปรับพื้นที่ให้เตียนเพื่อให้สะดวกมรการดูแลต้นไผ่ ไถดินตากแดดอย่างน้อย 2 ครั้ง สำหรับการ ถ้าพื้นที่ลุ่ม มีน้ำขัง ควรทำการยกร่องให้สูง ปลูกไผ่เพื่อเก็บหน่อควรเว้นระยะปลูก 4?4 เมตร
การจัดการก่อนนำกล้าไปปลูก :
ก่อนทำการขนย้ายต้นกล้าไผ่ ควรใช้กรรไกรตัดแต่งกิ่งที่ยื่นยาวออกเสียก่อน และลิดใบออกให้เหลือเพียงเล็กน้อยเพื่อป้องกันการคายน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้กล้าไผ่เหี่ยวและฟื้นตัวได้ยาก
การเตรียมหลุมปลูก /การปลูก :
ขุดหลุมลึก 30 ซม. กว้าง 50ซม. ผสมดินดีกับปุ๋ยหมัก อัตราส่วน คือ ปุ๋ยคอกหมัก 1ปี๊บ+หน้าดินที่ขุดออก 1 ปิ๊บ/หลุม ผสมให้เข้ากัน จากนั้นเกลี่ยดินให้เสมอ ขุดเป็นหลุมขนาดเล็กนำกิ่งไผ่วางลงในหลุ่มกลบดินให้แน่นนำหลังมาปักมัดติดกับต้นไผ่ให้แน่นแล้วรดน้ำ จากนั้นให้นำฟางหรือหญ้าแห้งมาคลุมเพื่อป้องกันวัชพืชและเก็บความชื้น หลังจากปลูกไผ่แล้วให้รดน้ำทุกวันติดต่อกันประมาณ 15 วัน หลังจากนั้นให้รดน้ำวันเว้นวัน (สำหรับหน้าแล้ง) ถ้าเป็นหน้าฝนก็รดน้ำตามความเหมาะสม อย่าให้ดินแห้ง
** หลังจากที่ปลูกประมาณ 7 เดือน ไผ่จะเริ่มออกหน่อ หน่อที่ออกมาช่วงแรกอย่าเพิ่งรีบตัด ให้เก็บไว้เป็นลำประมาณ 4-5 ลำ หลังจากปลูกได้ประมาณ 1 ปี ไผ่จะออกหน่อเต็มที่ สามารถตัดไปบริโภคหรือขาย ได้เลย
การดูแลรักษา :
1. การให้น้ำ
ในฤดูฝนจะประหยัดน้ำได้มาก เพราะไม่ต้องให้น้ำเลยก็ได้ นอกจากฝนเกิดทิ้งช่วงนานๆ จึงให้น้ำช่วย แต่หลังจากหมดฝนแล้ว ผู้ปลูกต้องคอยรดน้ำให้เสมออย่าปล่อยให้ขาดน้ำนานๆ เพราะไผ่ในปีแรกนี้ยังไม่ค่อยแข็งแรงนัก อาจตายได้โดยง่าย หลังจากอายุเกิน 1 ปี ไปแล้ว ต้นไผ่จะแข็งแรงและทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีขึ้น
2. การใส่ปุ๋ยในช่วงปีแรก ไผ่สามารถใช้ปุ๋ยที่คลุกเคล้าไปกับดินปลูก ในระยะปีต่อๆ ไป จำเป็นต้องมีการไถพรวนและใส่ปุ๋ยทุกปี
2.1. ฉีดพ่นบำรุงด้วยน้ำหมักขี้ไก่ บำรุงราก ใบลำต้น และหน่อ 10 วันครั้ง
วิธีการทำปุ๋ยน้ำหมักขี้ไก่
2.2.ฉีดพ่นด้วยน้ำหมักบำรุงหน่อ (น้ำหมักพ่อ+น้ำหมักแม่) 7-15 วันครั้ง
++ น้ำหมักบำรุงไผ่ ใช้อัตรา 1:10 (น้ำหมัก:น้ำ) ++
ส่วนผสม :
1. หน่อไม้ หน่อกล้วย ยอดผักบุ้ง 30 ส่วน
2. EM 10 ส่วน
3. กากน้ำตาล 10 ส่วน
4. น้ำ 10 ลิตร
วิธีทำ : สับวัตถุดิบให้เป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ในถังหมัก เติม EM กากน้ำตาลและน้ำลงไปผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นปิดฝาถังหมักทิ้งไว้ประมาณ 1-3 เดือนก็สามารถนำไปใช้ได้
จะทำให้ไผ่สมบูรณ์ทั้งต้น ลำ ออกหน่อเยอะขึ้น
2.3.ใส่ปุ๋ยคอกหมัก ปีละครั้ง นำมาโรยรอบๆโคน กอละ 1 กระสอบ จากนั้นฉีดพ่นด้วย น้ำหมักพ่อ+น้ำหมักแม่ ตาม และรดน้ำตาม
++ การทำปุ๋ยคอกหมักบำรุงกอไผ่ สูตรลุงสงวน ++
นำปุ๋ยคอก ซึ่งได้แก่ มูลสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู ไก่ ฯลฯ ถ้านำไปใช้โดยตรงจะเกิดโรค และแมลงต่อพืชดังนั้น ก่อนนำไปใช้ควรนำไปหมักด้วยจุลินทรีย์ EM ก่อน
ส่วนผสม :
1.ปุ๋ยคอก 1 ส่วน
2.แกลบเผา 1 ส่วน
3.รำละเอียด 1 ส่วน
4.จุลินทรีย์ กากน้ำตาล อย่างละ 10 20 ซีซี
5.น้ำ 10 ลิตร
++ วิธีทำ ++
1.ผสมปุ๋ยคอก แกลบเผา รำละเอียด อื่น ๆ เข้าด้วยกัน
2.รดน้ำจุลินทรีย์ คลุกเคล้าให้เข้ากันดีจนได้ความชื้นพอเหมาะไม่เกิน 50%
3.นำไปกองเกลี่ยบนพื้นซีเมนต์ หนาไม่เกิน 15 ซ.ม.
4.ปุ๋ยคอกหมักที่มีคุณภาพดี จะไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีก๊าซแอมโมเนีย ไม่ร้อน แต่จะมีราขาว ๆ ขึ้นจำนวนมาก
วิธีใช้ :ใช้ได้ดีกับพืชผักทุกชนิด เช่นเดียวกับปุ๋ยคอกทั่วไป
2.4.คลุมด้วยฟาง/หญ้าแห้ง เพื่อเก็บความชื้น โดยเฉพาะหน้าแล้ง
3. การตัดแต่งกอ
จะทำการตัดแต่งกอและไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืช ปกตินิยมไถพรวนในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ก่อนที่ดินจะแห้ง เพราะถ้าดินแห้งจะไถพรวนได้ยาก ซึ่งการตัดแต่งกอนั้น ควรทำติดต่อกันทุกๆ ปี หลังการเก็บเกี่ยวในช่วงปลายฤดูฝนหรือประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ไผ่ชะงักการเจริญเติบโต จะตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคและมีแมลง ลำที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ และลำที่มีอายุตั้งแต่ 2-3 ปีขึ้นไปออก โดยเฉพาะลำที่บริเวณโคนลำเป็นแข้งตุ๊กแก ตัดให้เหลือลำแม่ดีๆ ไว้ประมาณ 5-6 ลำต่อกอ ลำที่เหลือไว้นี้จะเป็นลำแม่ที่ค้ำจุนและบังลมให้ลำที่เพิ่งแตกใหม่
การตัดหน่อไผ่ :
ไผ่ตงจะเริ่มแทงหน่อตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ตุลาคม ช่วงที่มีหน่อมากจะประมาณเดือนกรกฎาคม สิงหาคม ไผ่ตงที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป สามารถตัดได้วันเว้นวัน การตัดหน่อควรทำในตอนเช้ามืด เพื่อที่จะได้หน่อไม้ที่สด ไผ่ที่ตัดไว้นานๆ จะทำให้เปอร์เซ็นต์ความหวานลดลง เครื่องมือที่ใช้ตัดหน่อคือเสียม โดยจะตัดหน่อบริเวณที่ไม่อ่อน หรือแก่จนเกินไป ให้มีตาเหลืออยู่ประมาณ 2-3 ตา นับจากกาบใบที่ 1-2-3 แล้วตัดบริเวณกาบที่ 3 ซึ่งจะเหลือตาอยู่และจะให้หน่อในปีถัดไป ส่วนหน่อที่ไม่แข็งแรงมีขนาดเล็ก(หน่อตีนเต่า) ให้ตัดออก ถ้าไปปล่อยไว้จะไม่มีประโยชน์ ทำให้กอไผ่สูงชลูด ไม่แพร่ขยายออกไปในแนวกว้างเป็นวงกลม เพราะเป็นลำแม่ที่ไม่ดี ทำให้กอมีหน่อน้อยในปีถัดไป
โรค-แมลงศัตรูพืช : ไผ่เป็นพืชที่ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลง แมลงศัตรูไผ่ที่พบจะมีเพียงแมลงเจาะลำต้น เจาะหน่อ ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยน้ำหมักสมุนไพร จะลดปัญหาเรื่องแมลงศัตรูไผ่ลงได้
++ สูตรสมุนไพร ป้องกันกำจัดแมลงเจาะลำไผ่ ++
1. สะเดา ยูคา ข่า ตะไคร้หอม สามสิบกรีบ รวมกันให้ได้ 3 ส่วน
2. กากน้ำตาล 1 ส่วน
3. EM 1 ส่วน
4. น้ำ 1 ส่วน
วิธีทำ : หมักไว้ประมาณ 1 เดือน จากนั้นกรองเอาเฉพาะน้ำ 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร นำไปฉีดพ่นให้ทั่วประมาณ 1 เดือนครั้ง จะช่วยป้องกัน และขับไล่แมลงเจาะลำไผ่ได้
ที่มา www.cyto.biz (ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยมูลค้างคาว ปุ๋ยไซโต)
Comments