top of page

การทำสวนทุเรียน


การดูแลรักษาทุเรียนปลูกใหม่ ชาวสวนทำกันอย่างไร........เรื่องที่ต้องดูแลหลักๆ มี 4 เรื่อง คือ (1)การรดน้ำ (2) การบังร่ม (3) การใส่ปุ๋ย และ(4) การกำจัดวัชพืช

ขอสรุปวิธีปลูกคร่าวๆ ดังนี้ สำหรับการปลูกทุเรียนนั้น การปลูกแบบชาวสวนนนท์จะยกโคก(พูนดิน) โดยใช้ดินจากบริเวณที่จะปลูก ทำให้ร่วนซุย ควรผสมแกลบดิบ 1 กระสอบ และปุ๋ยคอก 1 กระสอบไปกับดินที่ยกเป็นโคกจะดีมาก และพูนขึ้นมาจากพื้นประมาณ 50 เซนติเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร  จากนั้นขุดหลุมปลูกบริเวณกลางโคก โดยขุดลงไปเท่าขนาดถุงชำ เมื่อตัดถุงชำ(ถุงสีดำ)ออกแล้ว ควรเอาดินส่วนล่างของถุงชำออกประมาณ 1 ใน 5 เพื่อให้รากทุเรียนได้เจอกับดินใหม่ที่เราผสมไว้ในโคก ขณะที่เอาดินจากถุงชำออกนั้น ต้องสังเกตที่รากแก้ว หากพบว่ารากแก้วขดอยู่ก็ควรใช้กรรไกรตัดออก ถ้ารากแก้วไม่ขดไม่ต้องตัด จากนั้นจัดรากฝอยให้แผ่ออกไปรอบๆ ต้น เมื่อทุเรียนโตขึ้นจะได้มีรากสมดุลกัน ทำให้แผ่กิ่งไปรอบๆ ต้นป้องกันการโค่นล้ม วางกิ่งทุเรียนลงในกลางพูนดินให้ลำต้นตั้งตรง จากนั้นปักไม้ค้ำและผูกเชือกเพื่อป้องกันลมโยกต้นทุเรียน โดยปักระยะประมาณขอบดินที่มากับกล้าทุเรียน ระวังไม่ให้โดนราก และผูกเชือกฟางพอให้ไม้ค้ำประคองต้นได้ อย่าผูกแน่นจนเกินไป จากนั้นกลบโคนต้นทุเรียนและใช้ฟางคลุมโคนเพื่อรักษาความชื้น 

(ท่านสามารถศึกษาวิธีการปลูกโดยละเอียด 7 ขั้นตอนได้ที่ หน้า..วิธีการปลูกทุเรียน <คลิ๊กด้านล่าง>)

หลังจากที่ปลูกทุเรียนแล้ว เรื่องที่ชาวสวนต้องดูแลหลักๆ มี 4 เรื่อง คือ (1)การรดน้ำ (2) การบังร่ม (3) การใส่ปุ๋ย และ(4) การกำจัดวัชพืช

(1) การรดน้ำต้นทุเรียน

น้ำเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการเกษตรกรรมทุกชนิด เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของพืช น้ำเป็นตัวกลางในการนำเอาอาหารจากดินสู่รากพืช ถ้าขาดน้ำเสียแล้วอาหารในดินหรือปุ๋ยที่ใส่ลงไปก็จะไม่มีประโยชน์ต่อต้นไม้เลย ดังนั้น หลังจากปลูกทุเรียนเสร็จแล้วต้องรดน้ำให้ทันที ทุเรียนต้นเล็กเมื่อปลูกใหม่ควรรดน้ำทุกวัน อย่างน้อย 1 เดือน จากนั้นในช่วงปีแรกอาจให้เพียงวันเว้นวันหรือ 2-3 วันครั้งแล้วแต่ความชื้นของดินบริเวณโคนต้น โดยรดครั้งละประมาณ 5 ลิตร และต้องเพิ่มให้มากขึ้นทุกปี สังเกตดูว่าดินนั้นซึมน้ำได้รวดเร็วหรือไม่ ถ้าซึมได้รวดเร็วก็ควรรดน้ำให้มากขึ้นเล็กน้อย และอาจช่วยเก็บความชื้นในดินไว้ไม่ให้ระเหยเร็วโดยการใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมดินโคนต้น เมื่อความชื้นสูงหรือฝนตกจึงเอาออก เพราะถ้าโคนแจะทำให้เกิดโรคเน่าได้ง่าย ยังเป็นที่อยู่อาศัยของปลวกซึ่งเป็นศัตรูของทุเรียน

วิธีการรดน้ำ ในที่ที่การทำสวนทุเรียนแบบยกร่องไม่ควรใช้แครงสาดทุเรียนที่ปลูกใหม่ๆ เพราะจะทำให้ต้นทุเรียนโยกคลอนชะงักการเจริญเติบโต ควรใช้วิธีการตักรดโคนต้นโดยเฉพาะ อย่ารดจนน้ำนองบ่าออกมานอกบริเวณโคก เพราะจะทำให้ดินโคกพังทลายและน้ำชะล้างหน้าดินไปเสียหมด เมื่อทุเรียนตั้งตัวดีแล้วจึงใช้วิธีสาดเอาได้ ถ้าเป็นสวนขนาดใหญ่ การรดน้ำวันเว้นวันอาจไม่สะดวก ถ้ายิ่งใช้เครื่องยนต์แบบเคลื่อนที่ด้วยยิ่งไม่สะดวก บางสวนอาจทำแบบร่อง บางสวนอาจใช้วิธีวางท่อในสวนแล้วใช้สายพลาสติกต่อ ถ้าใช้สายพลาสติกต่อน้ำมารดควรใช้วิธีประมาณเอาพอให้ดินอิ่มตัวราว 10 - 20 นาทีแล้วแต่ชนิดของดินเหนียวต้องใช้เวลานานกว่าเพราะน้ำซึมลงได้ยาก ควรสังเกตดินในเรือนพุ่มถ้าเห็นว่าดินมีความชื้นดีอยู่ไม่ต้องรดน้ำให้มาก       ในช่วง 2-3 ปีแรก อย่าปล่อยให้ทุเรียนที่ขาดน้ำนานๆ ในฤดูแล้งทุเรียนจะแสดงอาการให้เห็นอย่างเด่นชัด ใบเหี่ยวเฉาในเวลากลางวัน สีของใบไม่สดใส ใบไม่เป็นมันเหมือนปกติ ขอบใบจะมีสีเหลืองและไหม้จากปลายใบเข้ามาทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตในที่สุด ใบก็จะร่วงผลัดใบ ถ้าไม่รีบให้น้ำต้นทุเรียนจะตายทั้งกิ่ง หรืออาจตายทั้งต้นเลยก็ได้ ดังนั้น การรดน้ำอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะ น้ำมีส่วนสัมพันธ์กับคุณภาพของเนื้อทุเรียน เนื้อทุเรียนจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของใบ ถ้าขาดน้ำใบทุเรียนจะร่วง ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงผลและเนื้อทุเรียนด้วย

📷

 นอกจากนี้ ในพื้นที่ที่ใช้น้ำแหล่งน้ำธรรมชาติ และมีโอกาสเจอ “ปัญหาน้ำเค็ม”  จากน้ำทะเลหนุน หรือน้ำใต้ดินมีความเค็ม เกษตรกรควรวัดค่าน้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยมาตรการวัดน้ำเค็มนั้นจะมี 2 แบบ คือ หนึ่งเครื่องวัดน้ำเค็มที่มีหน่วยวัดเป็น ppm (ช่วงค่า 0-9990 ppm) สอง เครื่องวัดที่เกษตรกรในจังหวัดนนทบุรีใช้กันอย่างแพร่หลายซึ่งมีหน่วยเป็น ppt (ช่วงค่า 1.0 - 70.0 ppt)  โดยน้ำที่สามารถน้ำมาใช้รดต้นทุเรียนได้จะต้องอยู่ที่ค่าต่ำกว่า 0.3 ppt หรือ ต่ำกว่า 300 ppm  นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ “น้ำฝน”  กล่าวคือ โดยปกติน้ำฝนที่ตกลงมาจากท้องฟ้าเป็นน้ำที่ไม่มีความเค็ม แต่เมื่อน้ำฝนนั้นได้ชะผ่านหน้าดินที่มีความเค็มสะสมอยู่ลงสู่ท้องร่องสวน  จะทำให้น้ำในท้องร่องมีความเค็มได้  ดังนั้น เกษตรกรจึงควรวัดค่าน้ำก่อนที่จะนำมาใช้รดต้นทุเรียนทุกครั้ง

(2) การบังร่มให้ต้นทุเรียน

นิสัยทุเรียนไม่ชอบที่โล่งแจ้ง ดังนั้นจึงควรมีไม้บังร่มให้แก่ทุเรียนบ้างโดยเฉพาะทุเรียนในปีแรกที่ยังเล็กอยู่ต้องการร่มเงามาก สามารถบังร่มได้ 2 วิธี คือ 1. ใช้แสลนบังร่ม 2. ปลูกไม้บังร่ม

(1) ใช้แสลนบังร่ม :  ตัดแสลนสูงกว่าต้นประมาณ 1 ฟุต เพื่อให้เงาแสลนทอดลงมาบังแดดให้ต้นทุเรียนได้ โดยแสลนที่ใช้บังควรบัง 3 ด้าน เปิดด้านที่โดนแดดตอนเช้าไว้ 1 ด้าน เพื่อให้ลมหมุนเวียนได้สะดวก ส่วนด้านบนไม่ต้องบังแสลน เนื่องจาก การบังแสลนด้านบนจะช่วยบังแดดแค่ตอนเที่ยง ไม่ได้ช่วยบังต้นทุเรียนเวลาช่วงสายและช่วงบ่าย และการบังแสลนด้านบนจะทำให้ต้นทุเรียนจะไม่ได้รับน้ำค้างเวลากลางคืน นอกจากนี้การปักแสลนควรเว้นระยะให้ห่างจากพื้นดินเล็กน้อยเพื่อให้ลมผ่านได้ และไม่ควรปักติดชิดต้นทุเรียนมากเกินไป เพราะแสลนจะเก็บความร้อนไว้ เมื่อผืนแสลนสัมผัสกับใบทุเรียนเป็นเวลานานจะทำให้ใบไหม้ได้ 

(2) ปลูกไม้บังร่ม : ไม้บังร่มจะช่วยให้ร่มเงาและให้ความชื้นแก่ต้นทุเรียน พืชบังร่มชั่วคราวที่ดีที่สุดคือกล้วยหอม หรือ กล้วยไข่ เพราะปลูกง่าย โตเร็ว ให้ร่มเงาเร็วที่สุด ส่วนไม้บังร่มถาวรนั้นในสวนแบบยกร่องนิยมปลูกต้นทองหลางสลับระหว่างต้นทุเรียน ต้นทองหลางมีประโยชน์มาก นอกจากบังร่มแล้ว ใบของทองหลางที่หล่นลงร่องสวน ยังสามารถขุดขึ้นมาถมโคนทุเรียนซึ่งเป็นพวกอินทรียวัตถุได้ พอถึงฤดูแล้งน้ำที่ระเหยจากใบทองหลางจะช่วยให้ความชื้นในอากาศมากขึ้น  ทำให้ทุเรียนไม่ชะงักการเจริญเติบโต นอกจากนี้ ไม้บังร่มยังเป็นรายได้จุนเจือชาวสวนอีกด้วย เช่น ค่ารักษาสวน  ค่าปุ๋ยทุเรียน  อีกทั้ง ยังช่วยป้องกันกำจัดวัชพืช  เพราะเมื่อมีไม้บังร่มขึ้นปกคลุมแล้ว สวนก็จะร่ม พวกวัชพืชก็จะขึ้นน้อยลง

ก่อนที่จะปลูกทุเรียนควรที่จะปลูกไม้กันลมโดยรอบ และปลูกไม้เพื่อเป็นร่มทุเรียนให้สูงขึ้นอย่างน้อย 3 เมตร เสียก่อน เมื่อเห็นว่าสวนร่มครึ้มดีแล้วจึงค่อยลงมือปลูกทุเรียนได้ ลักษณะของไม่ที่เหมาะสมในการปลุกไม้กันลม ควรเป็นไม้ที่มีระบบรากลึกแข็งแรง รากไม่แผ่ออกไปกว้าง เพราะจะไปรบกวนทุเรียนแถวริมสุด เป็นไม้ที่ปลูกง่ายไม่ผลัดใบในฤดูแล้ง เจริญเติบโตเร็ว กิ่งไม่เปราะ มีลำต้นเหนียวและโอนอ่อนไปตามกระแสลมได้ มีใบพุ่มหนาตลอดลำต้น ใบไม่ใหญ่โตนัก ไม้กันลมที่ควรใช้ปลูก เช่น แคบ้าน สะเดา ขี้เหล็ก เป็นต้น 

(3) การให้ปุ๋ยทุเรียน

การให้ปุ๋ยต้องคำนึงถึงความต้องการธาตุอาหารของทุเรียนในระยะเวลานั้นๆ เป็นหลัก เช่น ระยะการเจริญทางกิ่งใบทุเรียนต้องการไนโตรเจนมาก ก่อนออกดอกเป็นช่วงที่ต้องทำให้ทุเรียนหยุดการเจริญเติบโตทางกิ่งใบเพื่อเตรียมออกดอก ปุ๋ยที่จะใส่ต้องมีไนโตรเจนลดลง เพิ่มปุ๋ยฟอสเฟตและโปแตสเซียมสูง เป็นต้น การใส่ปุ๋ยให้กับทุเรียนจึงต้องให้สอดคล้องกับช่วงการเจริญเติบโตการใส่ปุ๋ยผิดเวลาอาจเกิดผลเสียและเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ แต่เนื่องจากการใส่ปุ๋ยให้แก่ทุเรียนขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดเป็นสูตรตายตัว หรือมีการทดลองอย่างจริงจัง และดินของแต่ละท้องที่ที่มีการปลูกทุเรียนก็แตกต่างกันไป การที่จะใส่ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยทุเรียนเริ่มตั้งแต่การเตรียมโคกปลูก คือผสมแกลบดิบและปุ๋ยคอกบนโคก หรือใส่เศษหญ้าและใบไม้แห้ง ผสมคลุกเคล้ากันไปหรือปุ๋ยอินทรีย์ให้สูงอย่างน้อย 20 - 30 เซนติเมตร ส่วยปุ๋ยวิทยาศาสตร์ยังไม่จำเป็นต้องใช้

ปุ๋ยทุเรียนในช่วง 2 ปีแรก หลังปลูกยังไม่ให้ผล เป็นระยะที่มีความสำคัญมาก เพราะความสำเร็จในการทำสวนทุเรียนในช่วงนี้จำเป็นต้องบำรุงรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโต แม้ว่าต้นทุเรียนเล็กยังต้องการปุ๋ยไม่มากนัก  การใส่อาจขุดเป็นร่องตรงระดับปลายราก กว้างราว 1 หน้าจอบ ลึก 3 - 4 นิ้ว ขุดเป็นวงกลมรอบต้นแล้วโรยปุ๋ยลงในร่องรอบโคนต้นที่ขุดไว้ ใช้ดินกลบปุ๋ยให้มิด ถ้าเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักใส่จนเกือบเต็มร่องที่ขุดไว้ แล้วใช้ดินกลบ

(4) การกำจัดวัชพืช

📷         การป้องกันวัชพืชในสวนนับว่าเป็นสิ่งสำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ในการทำสวนทุเรียน ทุเรียนซึ่งมีรากอาหารอยู่ในระดับผิวดิน ถ้าปล่อยให้หญ้าขึ้นรกรุงรังนอกจากจะแย่งอาหารและน้ำจากต้นทุเรียนแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงศัตรูทุเรียนได้ด้วย ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาสวนให้ปราศจากวัชพืชต่างๆ ได้ ก็ต้องคอยดูแลอย่าให้วัชพืชขึ้นคลุมยอดทุเรียนในระยะแรกได้ ซึ่งต้องทำการดายหรือถากถางออกเป็นครั้งคราว ในสวนทุเรียนที่เป็นที่ดอนอย่างน้อยต้องทำการเก็บวัชพืชปีละไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง คือ กลางฤดูฝนขณะฝนทิ้งช่วงซึ่งจะอยู่ประมาณเดือนกรกฎาคม และปลายฤดูฝน หลังจากหมดฤดูฝนแล้วประมาณเดือนพฤศจิกายน หรือต้นเดือนธันวาคม ซึ่งวัชพืชที่ถูกกำจัด เมื่อแห้งตายก็จะกวาดเข้าคลุมต้นทุเรียนที่ปลูกได้อีก

การป้องกันกำจัดวัชพืชอีกวิธีหนึ่งคือ การปลูกพืชคลุมหรือพืชแซม เช่น กล้วย หรือพืชคลุมชนิดต่างๆ พืชเหล่านี้จะช่วยคลุมไม่ให้วัชพืชเจริญงอกงามได้เร็ว โดยเฉพาะพืชคลุมดินจะคลุมจนวัชพืชตายหมด พืชคลุมดินเหล่านี้จะขึ้นคลุมปิดบังแสงแดดไม่ให้ส่องถึงผิวดินทำให้ดินไม่ร้อนจัดและชุ่มชื้นอยู่เสมอ รวมถึงทำให้การสูญเสียหน้าดินจากน้ำฝนน้อยลง 

ที่มา www.cyto.biz (ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยมูลค้างคาว ปุ๋ยไซโต)

(#ปุ๋ยอินทรีย์ #ปุ๋ยมูลค้างคาว #ปุ๋ยไซโต)

Comments


bottom of page