top of page

8 ขั้นตอน “ฟื้นชีวิต” สวนปาล์มน้ำมันหลังน้ำท่วม


ภายหลังน้ำลด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการฟื้นฟู เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบในระยะสั้น และอาจจะกระทบในระยะยาว “ยางปาล์มออนไลน์” มี 8 ขั้นตอนการดูแลสวนปาล์มหลังน้ำท่วมมาฝาก

👉 1. เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากบริเวณโคนต้นปาล์มน้ำมันโดยเร็ว โดยรักษาระดับน้ำให้ต่ำกว่าบริเวณโคนต้นปาล์มน้ำมัน 30 เซนติเมตร

👉 2. ในขณะดินยังมีความชื้นอยู่ ไม่ควรเหยียบย่ำบริเวณโคนต้นปาล์มน้ำมันโดยเด็ดขาด ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง หรือนำเครื่องจักรกลเข้าในแปลงปลูก เพราะหน้าดินที่ถูกน้ำขังจะมีโครงสร้างที่ง่ายต่อการถูกทำลาย และเกิดการอัดแน่นของดิน จึงเป็นผลเสียต่อการไหลซึมของน้ำ และระบายอากาศ รวมทั้งจะกระทบกระเทือนต่อระบบรากพืช อาจทำให้ต้นปาล์มน้ำมันโทรม หรือตายได้

👉 3. ในสภาพน้ำท่วมที่มีการชะล้างนำเอาหน้าดิน หรือทรายมาทับถมบริเวณโคนต้น หลังน้ำลดและดินแห้งแล้วเกษตรกรควรปรับแต่งดินเหล่านั้นออกจากโคนต้นปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้หากพบต้นปาล์มน้ำมันที่ล้มหรือเอนเอียงเกษตรกรควรจัดการให้ต้นตั้งตรงเช่นเดิมโดยใช้ไม้ค้ำยัน

👉 4. หากตรวจพบต้นปาล์มน้ำมันตาย เกษตรกรควรขุดต้นที่ตายและทำลายทิ้ง ใช้ปูนขาวโรยในหลุมปลูกเพื่อฆ่าเชื้อโรคทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ รองก้นหลุมด้วยร็อกฟอสเฟส 0-3-0 ครึ่งกิโลกรัม แล้วปลูกซ่อมทันที

👉 5. หลังน้ำลดและดินแห้งแล้วเกษตรกรควรใช้ปูนขาวโรยบริเวณรอบโคนรัศมีทางใบปาล์มน้ำมัน เพื่อปรับสภาพดินและฆ่าเชื้อโรคที่มาจากน้ำท่วม และควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพื่อปรับโครงสร้างดินให้ดีขึ้น และใส่ปุ๋ยสูตร 0-3-0 เพื่อเร่งการเจริญของระบบราก ปาล์มเล็กใช้ปริมาณ 500 กรัม ปาล์มใหญ่ใช้ปริมาณ 1.5 กิโลกรัม

👉 6. เพื่อช่วยให้ปาล์มน้ำมันฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เกษตรกรควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ เพราะระบบรากพืชยังไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยใช้ปุ๋ยเกร็ดสูตร 21-21-21

👉 7. ในปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตแล้ว หากน้ำท่วมทะลายเป็นเวลานานจะทำให้ทะลายเน่า เกษตรกรควรตัดทะลายเน่าทิ้ง เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดเชื้อรา และแพร่กระจายไปยังทะลายอื่น หรือส่วน อื่นๆได้

👉 8. ภายหลังจากน้ำท่วม มักเกิดปัญหาโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น ยอดเน่า ทะลายเน่า รากเน่า เกษตรกรควรใช้น้ำหมักอินทรีย์ ป้องกันและรักษาโรคเชื้อราทุกชนิด #ปุ๋ยไซโต

#สวนปาล์ม #ปาล์มน้ำมัน


#ปุ๋ยอินทรีย์ #ปุ๋ยมูลค้างคาว #ปุ๋ยไซโต

Comments


bottom of page